รายงานการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการฯ ครั้งที่ 5/2562 ( อ่าน 250 )


สรุปรายงานการประชุมคณะกรรมการบริหาร โครงการพัฒนารูปแบบการพัฒนาระบบสุขภาพอำเภอที่พึงประสงค์ เพื่อสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพกลุ่มวัยในเขตสุขภาพที่ 2 ครั้งที่ 5/2562

วันที่ 24 ธันวาคม 2562 เวลา 14.00 – 16.30 น.ณ ห้องประชุม CC2-414 ชั้น 4

อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 พระชนมพรรษา 2 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

 

ระเบียบวาระที่ 1 เรื่องประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ 

1.1  เรื่องที่ประธานที่ประชุมแจ้งให้ทราบ (นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์)

การประชุมครั้งนี้ถือเป็นประชุมเดียวกันกับที่เลื่อนมาจากวันที่ 9 ธันวาคม 2562 เนื่องจากติดภารกิจในการพิจารณาโครงการฯ สำหรับการประชุมในครั้งนี้ถือว่าจำเป็นจะต้องมีการพูดคุยกัน
ในหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นแนวทางในการดำเนินงานการสนับสนุนงบประมาณให้กับอำเภอทั้ง 47 อำเภอรวมถึงการพัฒนาเครื่องมือแอปลเคชั่นที่จะมีการส่งให้พื้นที่ได้ทดลองใช้ในเขตพื้นที่โดยเฉพาะจังหวัดพิษณุโลก

1.2  หัวหน้าโครงการฯ แจ้งให้ที่ประชุมทราบ (รศ.นพ.ศิริเกษม ศิริลักษณ์)

จากการที่ได้รับฟังความคิดเห็นคณะกรรมการในที่ประชุมมาหลายต่อหลายครั้งซึ่งถือเป็นข้อเสนอที่ดีโดยเฉพาะที่ได้มีการเสนอให้มีการอบรมพัฒนาศักยภาพคณะอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ซึ่งทางโครงการเล็งเห็นแล้วว่ามีประโยชน์อย่างมากจึงได้มีการจัดอบรมคณะอนุกรรมการ พชอ. ทั้ง 47 อำเภอซึ่งดำเนินการไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จำนวน 2 ครั้ง โดยครั้งล่าสุด (ครั้งที่2) ได้มีการเชิญคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชนเขตที่ 2 มาเข้าร่วมรับการอบรมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยเช่นกันซึ่งผลการอบรมจะมีทางผู้รับผิดชอบนำเสนอผลการดำเนินงานให้ที่ประชุมรับทราบต่อไปจากนี้

นอกจากนี้ ยังมีอีกประเด็นที่มีการพูดคุยกัน คือ Health information systems หรือโครงการศึกษาการวิเคราะห์ระบบสารสนเทศสุขภาพของระบบสุขภาพอำเภอในประเทศไทย โดยทาง นพ.ปิยะ ศิริลักษณ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก ผู้รับผิดชอบโครงการ จะมีการรายงานให้ทราบต่อไปจากนี้เช่นกัน 

 

ระเบียบวาระที่ 2 เรื่องรับรองรายงานการประชุม

2.1 รายงานการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการพัฒนารูปแบบการพัฒนาระบบสุขภาพอำเภอที่พึงประสงค์เพื่อสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพทุกกลุ่มวัยในเขตสุขภาพที่ 2 ครั้งที่ 4/2562 วันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 เวลา 13.30 – 16.00 น. น. ณ ห้องประชุม CC2-414 ชั้น 4 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา 2 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร โดย รศ.นพ.ศิริเกษม ศิริลักษณ์

ที่ประชุมรับรองรายงาน

 

ระเบียบวาระที่ 3 ติดตาม

3.1 รายงานการอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (อนุกรรมการ พชอ.) วันอังคารที่ 26 พฤศจิกายน 2562 ณ ห้องประชุมคริสตัล 1 โรงแรมเดอะปาร์ค จังหวัดพิษณุโลก 

      โดย เภสัชกรหญิงดวงดาว วงศ์จำปา และ เภสัชกร ดร.ทรงศักดิ์ ทองสนิท  

วัตถุประสงค์สำคัญสำหรับการอบรมครั้งนี้เพื่อถ่ายทอดหลักการ Six Building Blocks Plus One ไปปรับใช้ในการพัฒนาตามประเด็นสุขภาพของแต่ละอำเภอซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมในครั้งที่ 1 
เป็นตัวแทนกลุ่มคณะอนุกรรมการ พชอ. ทั้ง 47 อำเภอ โดยแต่ละอำเภอได้ส่งตัวแทนมาเข้าร่วมอบรมอำเภอละ 2 - 4 คน  โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น  142 คน จากทั้งหมด 47 อำเภอ 

กำหนดการ
·    ช่วงเช้า :    
1.     การบรรยาย เรื่อง หลักการของ Six Building Blocks Plus One ภายใต้แนวคิดสุขกันทั้งอำเภอ โดย รศ.นพ.ศิริเกษม ศิริลักษณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ 
2.     การบรรยาย เรื่อง แนวทางการพัฒนาระบบสุขภาพระดับอำเภอที่พึงประสงค์ด้วย Six Building Blocks Plus One โดย นพ.ปิยะ ศิริลักษณ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก 
·   ช่วงบ่าย : กิจกรรมเชิงปฏิบัติการเพื่อฝึกทำการใช้หลักการ Six Building Blocks Plus One 
ไปปรับใช้ในการพัฒนาตามประเด็นสุขภาพของแต่ละอำเภอ (ประเด็น : ผู้สูงอายุ/อาหารปลอดภัย/ยาเสพติด/การลดและป้องกันอุบัติเหตุทางถนน/การจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม)
ผลการดำเนินงานที่ได้จากการประชุม
1.     คลิปการบรรยายของ หลักการ Six Building Blocks Plus One มีเนื้อหาสาระภายใต้แนวคิด สุขกันทั้งอำเภอ โดย รศ.นพ.ศิริเกษม ศิริลักษณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ 
2.     คลิปการบรรยาย แนวทางการพัฒนาระบบสุขภาพระดับอำเภอที่พึงประสงค์ (District Health System) ด้วย Six Building Blocks Plus One โดย นพ.ปิยะ ศิริลักษณ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก 
3.     ตัวอย่างการจัดการประเด็นทางสุขภาพ 5 เรื่องตามแนวคิด Six Building Blocks Plus One 
4.     คลิปการสัมภาษณ์การนำหลักการ Six Building Blocks Plus One ไปใช้จริงในพื้นที่ จาก สสอ. ทั้งหมด 16 ท่าน 

ส่วนผลที่ตอบรับกลับมาถือว่าได้รับความสนใจเป็นอย่างมากเพราะถือเป็นเครื่องมือใหม่แต่ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจซึ่งในการอบรมครั้งนี้มีความเข้าใจเพิ่มเติมมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ นพ.ปิยะ ศิริลักษณ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลกได้กล่าวเสริมโดยเน้นย้ำสำหรับการอบรมครั้งนี้ คือ 
1.   เน้นให้ผู้เข้าร่วมเข้าใจในระบบ
2.   ชี้ชวนและทดลองปฏิบัติจริงโดยให้มีการคิดครบทั้ง 6 Block อย่างชัดเจน
3.   ผลผลิตที่ทำได้ในการอบรมครั้งแรกนี้คือ มาตรการที่ครอบคลุมทั้ง 6 Block
ส่วนการอบรมครั้งที่ 2 นั้น ให้นำมาตรการที่ได้จากการอบรมครั้งที่ 1 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนามธรรมมาทดลองปรับแต่งให้เป็นรูปแบบกิจกรรมรวมถึงระบุบทบาทหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน/เครือข่ายซึ่งผู้เข้าร่วมสามารถเข้าใจและทำได้ออกมาได้


ทางด้าน นายธรรมรัตน์ เพชรี สาธารณสุขอำเภอเนินมะปราง ได้กล่าวเสริมว่าในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมการอบรมครั้งนี้ถือว่าคุ้มค่าและมีประโยชน์มากที่สุดเนื่องจากเป็นเรื่องใหม่โดย
ได้นำองค์ความรู้ที่ได้ไปทดลองทำแผนจริงในอำเภอร่วมกับปลัดอำเภอเนินมะปรางโดยเฉพาะในเรื่องของประเด็นยาเสพติดซึ่งคาดว่าจะได้ผู้รู้ หรือ ครู ก.กลับไปขับเคลื่อนในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพนอกจากนี้ขอเสนอให้มีการจัดอบรมเพิ่มเติมโดยเฉพาะ Project manager ในแต่ละหน่วยงานให้เข้าใจ Six Building Block Plus One ด้วยเช่นกัน 
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ให้คำแนะนำว่าต้องระบุเป้าหมายให้ชัดเจนถ้าจะมีการจัดอบรมเพิ่มเติมโดยต้องมีการไปสอบถามหรือประเมินความสนใจในพื้นที่ทั้ง 47 อำเภอให้ชัดเจนก่อน
รศ.นพ.ศิริเกษม ศิริลักษณ์ เสริมว่าจากการที่โครงการมีแนวทางในการสร้างเสริมสุขภาพ
ทุกกลุ่มวัยในเขตสุขภาพที่ 2 แบบนี้น่าจะสามารถปรับแผนงานในการเพิ่มหลักสูตรการอบรมเพิ่มเติมได้ สรุป คือ เสนอให้มีการจัดสรรโควตาให้อำเภอละ 2 คน จาก 47 อำเภอ ทางด้าน นพ.ปิยะ ศิริลักษณ์ เสนอว่าให้ทางทีมงานโครงการลองประเมินผู้เข้าร่วมที่ดูมีความเข้าใจแล้วดึงมาเป็นทีมวิทยากรเพื่อไปขยายผลในพื้นที่ต่อไป    
3.2 รายงานการอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพด้าน DHS สำหรับอนุกรรมการ พชอ. ร่วมกับคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) เขต 2 วันจันทร์ที่ 23 ธันวาคม 2562 ณ ห้องประชุมวังธารา The Imperial Hotel and Convention Centre Phitsanulok 
โดย เภสัชกรหญิงดวงดาว วงศ์จำปา และ เภสัชกร ดร.ทรงศักดิ์ ทองสนิท 
วัตถุประสงค์การจัดอบรม
·      เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาระบบสุขภาพอำเภอ
·      เพื่อฝึกการนำแผน/มาตรการ/แนวทางลงสู่การปฏิบัติในการพัฒนาตามประเด็นสุขภาพ
ผู้เข้าร่วมประชุม
·      ตัวแทนกลุ่มคณะอนุกรรมการ พชอ. ทั้ง 47 อำเภอ โดยแต่ละอำเภอได้ส่งตัวแทนมาเข้าร่วมอบรมอำเภอละ 2-4 คน  โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 112 คน จากทั้งหมด 47 อำเภอ 
·      ตัวแทนจากคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) เขต 2 จำนวน 15 คน
กำหนดการ
·      ช่วงเช้า : การบรรยาย เรื่อง “การบูรณาการการเชื่อมต่อฐานข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาระบบสุขภาพอำเภอ” โดย
            1.ศาสตราจารย์ ดร.ไพศาล มุณีสว่าง และ คุณปริญญา บุญชัย 
            2.นายแพทย์รัฐภูมิ ชามพูนท 
            3.นายศรศักดิ์ สีหะวงษ์ 
โดยมี     ประธาน : รศ.นพ.ศิริเกษม  ศิริลักษณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์
            ประธานร่วม : รองศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ  แย้มเม่น คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ 
·      ช่วงบ่าย : กิจกรรมเชิงปฏิบัติการเพื่อฝึกการนำมาตรการ/แนวทาง ลงสู่การทำแผนปฏิบัติการในการพัฒนาตามประเด็นสุขภาพ (ประเด็น : ผู้สูงอายุ/อาหารปลอดภัย/ยาเสพติด/
การลดและป้องกันอุบัติเหตุทางถนน/การจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม)
3.3 การจัดสรรงบประมาณในการพัฒนาระบบสุขภาพอำเภอในงวดที่ 2 โดยจัดสรรงบประมาณให้อำเภอละ 50,000 บาท จำนวน 19 อำเภอ และอำเภอละ 30,000 บาท จำนวน 28 อำเภอ
โดย เภสัชกรหญิงดวงดาว วงศ์จำปา และ เภสัชกร ดร.ทรงศักดิ์ ทองสนิท   
จากการที่ได้มีการประชุมเพื่อทำความเข้าใจและประเมินภาพรวมตามโครงการของแต่ละอำเภอ ทั้ง 47 อำเภอ ซึ่งพิจารณาตามแผนงานโครงการที่เสนอมาโดยมี 19 อำเภอได้รับงบประมาณสนับสนุนอำเภอละ 50,000 บาท และ มี 28 อำเภอ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณอำเภอละ 30,000 บาท ทั้งนี้จำเป็นจะต้องให้แต่ละอำเภอส่งแผนงานที่สมบูรณ์แล้วเสนอมาให้ทางโครงการจึงจะมีการโอนงบประมาณไปให้โดยสิ่งที่คาดหวังจาก 47 อำเภอ คือ แผนงานต้องมีความท้าทายและเป็นแผนงานใหม่
ทั้งนี้แนวทางในการติดตามแผนงานก่อนการอนุมัติงบประมาณนั้นอาจจะเป็นแนวทาง
สองส่วน คือ การลงพื้นที่ไปพูดคุยเพื่อให้ได้แผนงานมา และ พิจารณาแผนงานจากการที่แต่ละอำเภอส่งแผนมาให้จากนั้นรวบรวมแผนงานของแต่ละจังหวัดเพื่อนำไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนายแพทย์สาธารณสุขทั้ง 5 จังหวัด 
 

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ เสนอว่าต้องวางแผนงานให้ชัดเจนเนื่องด้วยระยะเวลามีจำกัดโดยเฉพาะการจัดสรรทีมงานลงไปในแต่ละจังหวัดนั้นควรจะเป็นคณะทำงานจากโครงการ หรือ เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ หรือ เสนอว่าอาจจะใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์โดยการนัดหมายจัดประชุมกับนายแพทย์สาธารณสุขทั้ง 5 จังหวัดผ่าน Video conference ดำเนินการรายจังหวัดซึ่งต้อง
มีการรวบรวมโครงการจาก 47 อำเภอ ให้ครบภายในสัปดาห์แรกของเดือนมกราคม ปี 2563 หรือ ระบุไว้ว่าภายในวันที่ 3 มกราคม 2563 ต้องได้ครบทั้งหมด ซึ่งจากประสบการณ์ที่เกิดปัญหา
ในการสนับสนุนงบประมาณในงวดแรกที่ผ่านมานั้นเป็นบทเรียนที่ดีเพราะมีปัญหาในการส่งแผนงานโครงการล่าช้า จึงทำให้ในงวดที่ 2 นี้ต้องมีการเข้มงวดเพื่อให้ได้ตรงตามแผนงาน
3.4 แผนการจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนโครงการระบบ Health information system 
โดย นพ.ปิยะ ศิริลักษณ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก และ ผศ.พญ.สุภินดา ศิริลักษณ์   
            ณ วันนี้ เราทุกคนกำลังพัฒนาระบบสุขภาพอำเภอ โดยการมองผ่าน Six Building Block Plus One แต่ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญคือ Health Information system เพราะถือเป็นก้าวแรกของการสู่ระบบสุขภาพฉะนั้น Health Information System จึงถือเป็นบล็อกที่เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญมาก ข้อมูลต้องมีคุณภาพและแม่นยำจึงจะนำไปสู่การทำงานของระบบสุขภาพอำเภอที่พึงประสงค์ได้มีประสิทธิภาพครอบคลุมทั้งระบบ
สิ่งที่จะทำให้ข้อมูลมีคุณภาพได้นั้นจำเป็นจะต้องมีการเชื่อมร้อยข้อมูลทั้งในสาธารณสุขและนอกสาธารณสุขรวมถึงข้อมูลจากชุมชนด้วยเช่นกัน  
สำหรับ โครงการศึกษาการวิเคราะห์ระบบสารสนเทศสุขภาพของระบบสุขภาพอำเภอในประเทศไทย นี้ มีวัตถุประสงค์การศึกษาดังนี้
1.     เพื่อศึกษาระบบสารสนเทศสุขภาพ (Health Information Systems) ที่มีอยู่ในปัจจุบันของระบบสุขภาพอำเภอ (District Health System) ในประเทศไทย 
2.     วิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรคของระบบสารสนเทศสุขภาพในระดับปฏิบัติงาน (Operation Information System)  ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ (Management Information System) และ ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหาร (Executive Information System)
3.     เพื่อศึกษาการตอบสนองความต้องการของผู้เกี่ยวข้องกับระบบสารสนเทศสุขภาพในระดับปฏิบัติการ (User) และผู้บริหารในการนำสารสนเทศไปบริหารจัดการและบริหารงานด้านระบบสุขภาพ (Health Systems)  
4.     เพื่อศึกษารายละเอียดของแต่ละ Software ในกระบวนการข้อมูล ความเชื่อมโยงของแต่ละ Software และการประมวลผลร่วมกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้สารสนเทศสุขภาพ
5.     เพื่อศึกษาถึงค่าใช้จ่ายในแต่ละปีของแต่ละโรงพยาบาลในการใช้ไปในเรื่องของระบบสารสนเทศสุขภาพ
ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเด็นเรื่องการศึกษาวิเคราะห์ระบบสารสนเทศ
·   นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ เสริมว่าควรระบุแนวทาง/ข้อคำถามที่มีการวิเคราะห์ให้ชัดเจน หรือ 
มีการสรรหาจากคนในพื้นที่เพื่อนำมาศึกษาและพัฒนาเครื่องมือโดยเฉพาะแบบสอบถามทั้งนี้
ทีมต้องทำความเข้าใจและวิเคราะห์ให้ได้ตลอดจนเมื่อทำการศึกษาเสร็จสิ้นจะต้องถ่ายทอดหรือคืนความรู้กลับไปให้หน่วยงาน/แหล่งข้อมูลให้ได้มีความเข้าใจร่วมกันนำไปสู่การใช้ข้อมูลร่วมกันทั้งอำเภอ   
·   ผศ.ดร.นพ.ศักดิ์ชัย ไชยมหาพฤกษ์ เสริมว่าการได้มาซึ่งข้อมูลโดยเฉพาะข้อมูลพื้นฐานที่มี
การเชื่อมโยงกันอย่างมีคุณภาพต้องมีความทันสมัยและเป็นปัจจุบัน เช่น อัตราการตายของแต่ละโรงพยาบาล/สาเหตุการตาย เป็นต้น   
·   ผศ.พญ.สุภินดา ศิริลักษณ์ ได้กล่าวเสริมว่าเป้าหมายของการลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลจะเป็น
การสอบถามแต่ละหน่วยงานว่ามีการจัดเก็บข้อมูลโดยใช้โปรแกรมอะไร แนวทางในการเก็บอย่างไร ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร และมีปัญหาอุปสรรคอย่างไรบ้าง    
·    นพ.ปิยะ ศิริลักษณ์ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า การลงไปเก็บข้อมูลนั้นจะมุ่งเน้นในเรื่องระบบการบริการสุขภาพ เป็นหลักนอกจากนี้เพื่อที่จะเป็นการมองได้ครอบคลุมทั้งผู้บริหารและผู้ปฏิบัติ   
·   สสอ.เนินมะปราง เสริมว่า จากการที่ ผศ.ดร.นพ.ศักดิ์ชัย ไชยมหาพฤกษ์ เสนอในเรื่องข้อมูล
การตายทำให้มีความคิดเห็นเพิ่มเติมว่าข้อมูลการตายในปัจจุบันนั้นเมื่อต้องการข้อมูลจะหาจากข้อมูลทะเบียนราษฎร์ซึ่งจากการประชุมครั้งนี้คงต้องกลับไปเทียบข้อมูลการตายร่วมกันกับทางโรงพยาบาลว่ามีจำนวนและสาเหตุการตายตรงกันหรือไม่
·    รศ.นพ.ศิริเกษม ศิริลักษณ์ มองว่าการใส่กิจกรรมในเรื่องของการสร้างเครื่องมือนั้นเพื่อต้องการให้เกิดsoftware ที่จะสามารถส่งกลับไปให้พื้นที่ใช้ได้โดยที่ไม่ได้ไปทำให้เครื่องมือ หรือ โปรแกรมเดิมของพื้นที่ได้รับผลกระทบแต่จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งหรือเครื่องมือหนึ่งที่ให้พื้นที่ได้ทดลองใช้ซึ่งถ้ามีประสิทธิภาพที่ดีจะถือเป็นประโยชน์ในการนำไปต่อยอดให้กับจังหวัดอื่น ๆ หรือ เขตสุขภาพอื่น ๆ ได้
3.5 การรายงานการติดตามการดำเนินงานของ สสส. (ตอบกลับหนังสือ สสส.เรียบร้อย) โดย 
รศ.นพ.ศิริเกษม ศิริลักษณ์
การดำเนินงานเป็นไปตามแผนงานเป็นที่เรียบร้อยรวมถึงการสรุปรายงานได้มีการจัดส่งไปให้ทาง สสส. เรียบร้อย นอกจากนี้จากการที่คณะติดตามของ สสส. จะลงมาร่วมแลกเปลี่ยนในพื้นที่นั้นขอเลื่อนไปอย่างไม่มีกำหนดจากตอนแรกกำหนดไว้คือ วันที่ 9 มกราคม 2563 
3.6 เปลี่ยนแปลงนักวิชาการเขตสุขภาพที่ 2 โดย ผศ.ดร.พนิดา จงสุขสมสกุล ตามคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานโครงการพัฒนารูปแบบการพัฒนาระบบสุขภาพอำเภอที่พึงประสงค์ เพื่อสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพทุกกลุ่มวัยในเขตสุขภาพที่ 2 โดย รศ.นพ.ศิริเกษม ศิริลักษณ์
         เนื่องจากนักวิชาการคนเดิมติดภารกิจราชการและมีบทบาทหน้าที่รับผิดชอบที่มากขึ้น ดังนั้นจึงได้มีการแต่งตั้ง ผศ.ดร.พนิดา จงสุขสมสกุล เข้ามารับหน้าที่แทน ซึ่งในที่ประชุมรับทราบและเห็นด้วย


ระเบียบวาระที่ 4 เรื่องสืบเนื่อง
-        ไม่มี


ระเบียบวาระที่ 5 เรื่องพิจารณา
5.1 การผลิตสื่อสาธารณะรูปแบบและแนวทางเพื่อสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพกลุ่มวัย โดย 
ผศ.ดร.พนิดา จงสุขสมสกุล และ นายวราชัย ชูสิงห์ 
ด้านบทบาทภารกิจของฝ่ายพัฒนาสื่อสาธารณะขณะนี้ได้มีการจัดทำสื่อ ได้แก่ สื่อวีดิทัศน์/หนังสั้น ภาพเล่าเรื่องรวมถึงการทำเพลง “สุขกันทั้งอำเภอ” ซึ่งได้เอาทำนองของเพลง “เลิกคุยทั้งอำเภอเพื่อเธอคนเดียว” ของน้องลิลลี่ได้หมดถ้าสดชื่นซึ่งได้ดำเนินการเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยโดยเหลือเพียงรายละเอียดบางส่วนที่ต้องดำเนินการโดยเฉพาะในเรื่องลิขสิทธิ์ทำนองเพลงสุขกันทั้งอำเภอสำหรับการที่เลือกทำนองนี้มาเนื่องจากต้องการให้เพลงติดหูคนฟัง นอกจากนี้ยังได้มีการทำ MV เพลงสุขกันทั้งอำเภอเสร็จและจะมีการเผยแพร่ผ่านทางยูทูปโดยผู้ร้อง คือ น้องพลอย เดอะวอยซ์ ซึ่งเป็นนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร ทั้งนี้มีแนวทางในการจัดประกวดร้องเพลงสุขกันทั้งอำเภอซึ่งจะมีการแจ้งให้ทราบต่อไป
นอกจากนี้ยังมีการดำเนินการสื่อสารประชาสัมพันธ์ทางโครงการมีเพจ Facebook ชื่อ 
“สุขกันทั้งอำเภอ” นอกจากนี้ยังมีการจัดทำวีดิทัศน์สุขกันทั้งอำเภอโดยเริ่มต้นคัดเลือกอำเภอที่มีความพร้อมซึ่งนำร่องอำเภอแรก คือ อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก เนื้อหาในการจัดทำสื่อ
วีดิทัศน์จะมุ่งเน้นในเรื่องของการนำ Six Building Block Plus One ไปใช้ซึ่งอำเภอเนินมะปรางนั้นเลือกประเด็นสุขภาพผู้สูงอายุโดยมาจากการเสนอประเด็นในเวทีของ พชอ. ส่วนวีดิทัศน์ “สุขกันทั้งอำเภอ” อำเภอที่สองที่ได้มีการจัดเป็นรูปแบบหนังสั้น คือ อำเภอศรีนคร จังหวัดสุโขทัย โดยได้มีนายอำเภอศรีนคร ให้เกียรติมาร่วมแสดงในหนังสั้นนี้ด้วยเช่นกัน 
กิจกรรม DHS Cinema on show มีแนวทางในการผลิตหนังสั้นเพื่อนำไปเปิดที่โรงหนัง Major โดยจะมีการประสานงานเพื่อสอบถามค่าใช้จ่ายในการดำเนินการนอกจากนั้น มีแนวทางในการผลิตหนังสั้นที่มีที่มาจากเรื่องจริง คือ การส่งต่อคนไข้จากแม่สอดมายังโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวรโดยอาจจะมีการประสานงานกับทางกองทัพเพื่อขอเช่าเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์เพื่อใช้ประกอบฉากในการขนย้ายผู้ป่วย
DHS Media contest festival คือ กิจกรรมในการประกวดร้องเพลงสุขกันทั้งอำเภอ โดยในโครงการอาจจะต้องมีการจัดสรรงบประมาณบางส่วนเพื่อรองรับกิจกรรมนี้ด้วยเช่นกัน
ขณะนี้ได้มีการเปิดช่อง YouTube สุขกันทั้งอำเภอไว้แล้วเพื่อรองรับสื่อต่าง ๆ ที่มีการผลิต
ในโครงการนำมาเผยแพร่ในช่องนี้ส่วนแนวทางการผลิตเนื้อหาจะเป็น Six Building Block Plus One และ ประเด็นด้านการพัฒนาสุขภาพและคุณภาพชีวิตประชาชนในเขตสุขภาพที่ 2 
ส่วน Content ที่สนใจคือ ประเด็นทางสังคมในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 2 ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนรวมถึงสาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพและคุณชีวิตของประชาชนทั่วไป
 

ที่ประชุมมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม
·      ให้ผู้เข้าร่วมนำไปเผยแพร่ในเพจ หรือ เว็ปไซด์ต่าง ๆ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์
·      ความยาวของวีดิทัศน์ไม่ควรเกิน 3 นาที ทั้งนี้ถ้ายาวไปจะส่งผลต่อความสนใจของผู้ชม
·      เพื่อให้เป็นการลดค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะในเรื่องของการจัดเช่าเฮลิคอปเตอร์อาจจะหาภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหวจากแหล่งสื่ออื่น ๆ นำเอามาสอดแทรกแทน 
·      เสนอให้เปิดโอกาสให้คนทั่วไปสามารถนำเรื่องราว ข้อมูล วีดิทัศน์และรูปภาพสามารถเข้ามาแชร์ในเพจสุขกันทั้งอำเภอได้รวมไปถึงการหารางวัลหรือของขวัญให้กับผู้ที่เข้ามาแลกเปลี่ยนข้อมูล กด like กด share 
·      การค้นหาคนทำงานด้านสื่อ Media ในแต่ละอำเภอมาเพื่อรวบรวมมาอบรมและพัฒนาศักยภาพรวมถึงการสร้าง Content เพื่อนำกลับไปเผยแพร่ตลอดจนการเป็นนักข่าวพลเมือง 
·    เสนอให้ประสานงานไปยังโรงเรียนในแต่ละอำเภอเพื่อร่วมกันผลิตสื่อสุขภาวะรวมไปถึง
การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อไป ทั้งนี้เสนอให้ทางโครงการจัดทำหนังสือประชาสัมพันธ์ไปยังโรงเรียนต่างๆเพื่อประชาสัมพันธ์ให้เด็กนักเรียนได้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรม DHS Media contest festival ด้วยเช่นกัน  
5.2 พิจารณากำหนดการและการลงพื้นที่ของทีม สสส. ในวันพฤหัสบดีที่ 9 มกราคม 2563 โดย 
รศ.นพ.ศิริเกษม ศิริลักษณ์
            ทาง สสส. ขอเลื่อนไปอย่างไม่มีกำหนด 
5.3 กำหนดการอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรในพื้นที่ และประเมินผลการพัฒนาระบบสุขภาพอำเภอตามแผนการจัดสรรงบประมาณในการพัฒนาระบบสุขภาพอำเภอตามแนวทางSix Building Block Plus One (สัญจรไปยังพื้นที่) โดย เภสัชกรหญิง ดวงดาว วงศ์จำปา และ 
ดร.เภสัชกรทรงศักดิ์ ทองสนิท
สรุปเรื่องเนื่องด้วยทางโครงการฯ ได้จัดอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (อนุกรรมการ พชอ.) ครั้งที่ 1 ไป เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2562 ที่โรงแรมเดอะปาร์ค จังหวัดพิษณุโลก พบว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีจึงจะขยายผลในการพัฒนาศักยภาพอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอต่อไปโดยเป็นการอบรมที่พื้นที่แต่ละจังหวัด ทั้งหมด 5 จังหวัด กำหนดระยะเวลาการลงพื้นที่ดังนี้
จ.เพชรบูรณ์       7 ม.ค.63 – 11 ม.ค.63
จ.พิษณุโลก        13 ม.ค.63 – 17 ม.ค.63 
จ.ตาก   20 ม.ค.63 – 24 ม.ค.63
จ.อุตรดิตถ์         27 ม.ค.63 – 31 ม.ค.63
จ.สุโขทัย            20 ม.ค.63 – 24 ม.ค.63
หมายเหตุ: กำหนดการลงพื้นที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม 
ข้อเสนอแนะ
·      ควรมีการทำความเข้าใจและวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง ให้ชัดเจน  
·    ข้อดีของการเป็นคนนอกมาประเมินถือเป็นเรื่องที่ดีที่จะมีการสะท้อนให้เห็นปัญหาได้
แต่ข้อเสียคือต้องมาทำความเข้าใจว่าเรากำลังทำอะไรอยู่มีการแสดงและแนะนำตัวรวมถึงการมีเทคนิคในการสอบถามข้อมูลเพื่อไม่ให้เกิดข้อขัดแย้งกันระหว่างผู้ประเมินและพื้นที่

 

ระเบียบวาระที่ 6 เรื่องอื่นๆ
-        ไม่มี


... ... ... ... ... ... ... ... ...