รายงานการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการฯ ครั้งที่ 4/2562 ( อ่าน 255 )


รายงานการประชุมคณะกรรมการบริหาร โครงการพัฒนารูปแบบการพัฒนาระบบสุขภาพอำเภอที่พึงประสงค์ เพื่อสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพทุกกลุ่มวัยในเขตสุขภาพที่ 2 ครั้งที่ 4/2562

วันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 เวลา 13.30 - 16.00 น.

ณ ห้องประชุมชั้น 4 ห้อง CC2-414 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา 2 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

 

ระเบียบวาระที่ 1 เรื่องประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ

1.1  เรื่องที่ประธานที่ประชุมแจ้งให้ทราบ

            ระยะเวลาการดำเนินงานโครงการที่เหลืออีกประมาณ 7 - 8 เดือน การประชุมครั้งนี้
จึงมีรายละเอียดที่อาจจะต้องให้คณะกรรมการร่วมกันพิจารณากิจกรรมที่เหลือเพื่อดำเนินการต่อ
จนเสร็จสิ้นโครงการว่ามีรายละเอียดอะไรบ้างและในบางกิจกรรมอาจจะต้องมีการปรับเพื่อให้ผลผลิตและผลลัพธ์ตรงตามวัตถุประสงค์

มติ        ที่ประชุมรับทราบ

1.2  หัวหน้าโครงการฯแจ้งให้ที่ประชุมทราบ

            เนื่องจากโครงการฯ มีระยะเวลาดำเนินการต่อจากนี้อีกประมาณ 8 เดือน ส่วนของการขยายระยะเวลาก็คงเป็นไปตามเงื่อนไขที่อาจจะมีเพิ่มเติมแต่คงไม่มากเกินไปและมีส่วนที่จำเป็นต้องเร่งรัดในหลายกิจกรรมตามที่ระบุไว้ดังนั้นในเรื่องของการกำหนดแผนและการดำเนินการตามงบประมาณที่ได้รับต้องมีความชัดเจนมากขึ้นพร้อมทั้งกล่าวขอบคุณนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตากและกรรมการทุกท่านรวมถึงรศ.นพ.ดร.ชุมนุม พรหมขัติแก้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ชุมชน ที่เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้

มติ ที่ประชุมรับทราบ

1.3  รายงานการใช้จ่ายเงินงบประมาณที่ดำเนินการตั้งแต่ปีพ.ศ. 2560 – 2562

งวดที่ 1 (กิจกรรมที่ยังไม่ได้ดำเนินการหรือยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ)

- ทบทวนวรรณกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพจะจัดทำให้รูปแบบหนังสือภาษาอังกฤษกำหนดเวลาแล้วเสร็จ 30 พฤศจิกายน 2562 งบประมาณ 50,000 บาท

- จัดประชุมเชิงปฏิบัติการระดมความเห็นผู้มีส่วนร่วมในการพัฒนารูปแบบระบบสุขภาพอำเภอที่พึงประสงค์ทั้งภาครัฐและเอกชนลักษณะกิจกรรมจะเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับHealth Information จะดำเนินการภายในวันที่ 5 ธันวาคม 2562 งบประมาณที่ใช้ 137,680 บาทโดยประมาณ

- สรุปรูปแบบที่พึงประสงค์และแนวทางการประเมินจะจัดทำเป็นเอกสารภาคภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และ Electronic book ซึ่งจะประกอบไปด้วยรายละเอียดทั้งหมดของการดำเนินงานที่ผ่านมาการวิเคราะห์ ถอดบทเรียน การนำเสนอเรื่องของการประเมินที่เหมาะสมสำหรับการประเมินระบบสุขภาพอำเภอในระดับอำเภอให้ชัดเจนเพื่อให้การพัฒนาระบบสุขภาพอำเภอในอนาคตของประเทศไทยสามารถที่จะเผยแพร่หรือขยายไปในวงกว้างได้งบประมาณ 250,000 บาท

แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติม

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ให้ความเห็นว่าเนื่องจากเป็นกิจกรรมในงวดที่ 1 ที่ได้ดำเนินการในเรื่องเนื้อหาแล้วเพียงแต่ยังไม่ได้รวบรวมเป็นเอกสารที่สมบูรณ์และยังไม่ได้เบิกจ่ายงบประมาณในส่วนนี้รวมถึง
การสรุปรูปแบบที่พีงประสงค์และแนวทางการประเมินซึ่งช่วงแรกเราพยายามระดมความคิดว่าระบบสุขภาพอำเภอที่พึงประสงค์ควรเป็นอย่างไร โดยให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการออกแบบ และการดำเนินกิจกรรมที่ยังค้างอยู่ควรพิจารณาว่าวัตถุประสงค์ของกิจกรรมคืออะไรถ้ากิจกรรมตามวัตถุประสงค์เดิมไม่มีความจำเป็นหรือผ่านขั้นตอนนั้นแล้วก็อาจจะปรับเปลี่ยนกิจกรรมให้เป็นกิจกรรมอื่นเพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุดการนำงบประมาณคงเหลือไปใช้ในกิจกรรมอื่นหรือกิจกรรมที่ลักษณะคล้ายกันทาง สสส.ก็ไม่น่าจะมีปัญหาเพราะคล้ายกับว่าเราได้ทำเกินไปจากเป้าที่ตั้งไว้กล่าวง่าย ๆ คือ 137,680 บาท คืองบประมาณคงเหลือ ถ้าเราจะนำไปใช้กับกิจกรรมอื่น ๆ ก็ต้องแจ้งไปที่ สสส. รับทราบ ส่วนกิจกรรมการทบทวนวรรณกรรม งบประมาณ 50,000 บาท และสรุปรูปแบบที่พึงประสงค์และแนวทางการประเมินงบประมาณ 250,000 บาท เป็นกิจกรรมที่ยังไม่ได้ดำเนินการ เราอาจจะต้องช่วยกันวางแผนว่าจะทำอย่างไร

งวดที่ 2 (กิจกรรมที่ยังไม่ได้ดำเนินการหรือยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ)

- การจัดทำ M&E ติดตามความก้าวหน้าทั้งในระดับเขตและระดับจังหวัดซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2562 และยังมีงบประมาณคงเหลืออยู่คาดว่าจะเบิกจ่ายงบประมาณวันที่ 31 ธันวาคม 2562 ลักษณะกิจกรรมจะเป็นการจัดอบรมอนุกรรมการในคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) โดยใช้งบประมาณ M&E ในงวดที่ 2 ซึ่งมีงบประมาณเหลือเป็นจำนวน 48,125 บาท

- การพัฒนาศักยภาพผู้ประเมินก็ได้ดำเนินการไปแล้วงบประมาณคงเหลือ 149,406 บาท

- สื่อสารทำความเข้าใจภาคีที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการไปแล้วเบิกจ่ายไป 268,512 บาท งบประมาณคงเหลือ 191,488 บาท

- ประเมินสถานการณ์ DHS ทั้ง 47 แห่ง และจัดทำเป้าหมาย/มาตรการสำคัญในการพัฒนาดำเนินกิจกรรมเรียบร้อยแล้วงบประมาณคงเหลือ 168,283 บาท

- สื่อสารสาธารณะได้ดำเนินการไปบ้างแล้วแต่ไม่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานจึงยังมีงบประมาณคงเหลือเป็นเงิน 230,000 บาท

- สนับสนุนให้ทุกอำเภอจัดทำแผนพัฒนาเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วแต่มีงบประมาณคงเหลือในบางอำเภอ รวมงบประมาณคงเหลือเป็นจำนวนเงิน 419,400 บาท

แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติม

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่าควรชี้แจงรายละเอียดในส่วนกิจกรรม M&E 
ว่าตั้งงบประมาณไว้เท่าไร ใช้จริงเท่าไร และจะนำงบประมาณในส่วนของระดับเขตมาถัวเฉลี่ยหรืออย่างไร

งวดที่ 3 (กิจกรรมที่ยังไม่ได้ดำเนินการหรือยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ)
- กิจกรรม M&E ยังไม่ได้ดำเนินการจึงจะขอนำส่วนที่ยังค้างอยู่ไปใช้สำหรับการอบรมอนุกรรมการ พชอ. กำหนดเวลาแล้วเสร็จ 29 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นจำนวนเงิน 284,250 บาท
- กิจกรรมพัฒนาศักยภาพผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ และนักวิชาการใน CUP ยังไม่ได้ดำเนินการ กำหนดเวลาแล้วเสร็จ 31 มีนาคม 2563 งบประมาณจำนวน 564,000 บาท
- กิจกรรมพัฒนาระบบที่ต้องใช้ Scale ของเขตสุขภาพได้ดำเนินการไปบางส่วนยังมีงบประมาณคงเหลือ 1,841,600 บาท กำหนดเวลาแล้วเสร็จ 30 เมษายน 2563
งวดที่ 4 และงวดที่ 5 (กิจกรรมที่ยังไม่ได้ดำเนินการหรือยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ)
- การรับเงินสนับสนุนของโครงการในขณะนี้ทางโครงการได้รับมาถึงงวดที่ 4 เป็นจำนวนเงิน 486,000 บาท เป็นส่วนของเงินเดือนและค่าบริหารจัดการอื่น ๆ ส่วนงบประมาณสำหรับดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ นั้นยังไม่ได้รับเนื่องจากยังมีงบประมาณคงเหลือเกินกว่า 50% ของงบประมาณทั้งหมดในงวดที่ 4 และงวดที่ 5 กิจกรรมมีลักษณะคล้ายกันจึงใช้งบประมาณในส่วนที่ยังเหลือและค่าบริหารจัดการ (เงินเดือน) ครอบคลุมถึงงวดที่ 5
- งวดที่ 4 จะเป็นเรื่องของกลไก M&E และการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งได้ปรับแผน
การดำเนินการไปงวดที่ 5
งวดที่ 5 (กิจกรรมที่ยังไม่ได้ดำเนินการหรือยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ)
- จัดทำกลไก M&E ระดับเขตและระดับจังหวัด กำหนดเวลาแล้วเสร็จ 30 เมษายน 2563 งบประมาณเป็นเงินจำนวน 348,075 บาท
- กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างพัฒนาในเขตและนอกเขตกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จภายใน 30 เมษายน 2563 งบประมาณ 227,288 บาท
- กิจกรรมสื่อสารสาธารณะ กำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จภายใน 30 เมษายน 256 งบประมาณ 250,000 บาท
- พัฒนาศักยภาพ ผู้บริหาร/จนท./บุคลากร/นวก.ในเขตทุกระดับ กำหนดเวลาแล้วเสร็จ 30 เมษายน 2563 งบประมาณ 476,000 บาท
แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติม
นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ กล่าวว่า บางกิจกรรมที่ยังค้างทั้งในงวดที่ 1 – งวดที่ 3 อาจจะต้องเร่งดำเนินการในงวดที่ 4 เพราะเรามีเงื่อนไขเรื่องระยะเวลาเพราะในงวดที่ 4 ก็มีกิจกรรมอื่น ๆ ที่ต้องดำเนินการต่อและขณะนี้ดำเนินการมาถึงงวดที่ 5 เรื่องที่จะได้รับงบประมาณมาเท่าไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งในขณะนี้เรายังมีเงินเหลือยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จจึงจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน
รองศาสตราจารย์นายแพทย์ศิริเกษม ศิริลักษณ์ กล่าวว่า ทางโครงการได้ทำหนังสือชี้แจง
ไปที่ สสส.ว่าขณะนี้มีงบประมาณคงเหลืออยู่เท่าไรและคาดว่าจะดำเนินการเบิกจ่ายภายในสิ้นเดือนธันวาคม จากนั้นจะขอเบิกงบประมาณของงวดที่ 5 มาดำเนินกิจกรรมต่อไป
นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าการทำแผนและเสนอให้ทาง สสส.อนุมัติจำนวน 5 งวด ในแต่ละงวดมีกิจกรรมที่แตกต่างกันควรยึดกิจกรรมเหล่านี้เป็นหลักเนื่องจากเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการตามสัญญาที่ระบุไว้กับ สสส. และกิจกรรมที่เราจะให้งบประมาณในการพัฒนาระบบสุขภาพอำเภอรอบที่ 2 โดยอาจจะให้ไม่เท่ากันทุกอำเภอจะมีเกณฑ์อย่างไรควรวางแผนให้ดีเพราะไม่เช่นนั้นระยะเวลาดำเนินการของพื้นที่จะไม่เพียงพอและการขอยืดระยะเวลาการดำเนินงานกับทาง สสส. จากเดิมสิ้นสุดที่เดือนมิถุนายน 2563 การขอยืดระยะเวลาตามหลักสากลจะไม่ได้รับงบประมาณสำหรับการบริหาร (เงินเดือน) ฉะนั้นระยะเวลาที่เหลือจึงต้องวางแผนให้ดีครั้งที่แล้วก็ได้หารือกันไปแล้วว่าให้ผู้รับผิดชอบแต่ละจังหวัดช่วยพิจารณาเรื่องงบประมาณที่จะจัดสรรให้ในแต่ละอำเภอ
งวดที่ 6 (กิจกรรมที่ยังไม่ได้ดำเนินการ)
- จัดทำกลไก M&E ประชุมติดตามความก้าวหน้าและตรวจเยี่ยม ระดับเขต และระดับจังหวัดงบประมาณ 270,370 บาท
- พัฒนาโดยมุ่งเน้นอำภอที่ยังมีช่องว่างอย่างมากในการพัฒนา (จากภาพที่พึงประสงค์)กำหนดเวลาแล้วเสร็จ 28 กุมภาพันธ์ 2563 งบประมาณ 1,710,000 บาท
- แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างอำเภอภายในเขตและนอกเขต กำหนดเวลาแล้วเสร็จ 31พฤษภาคม 2563 งบประมาณ 476,000 บาท
- ถอดบทเรียนการพัฒนา กำหนดเวลาแล้วเสร็จ 31 พฤษภาคม 2563 งบประมาณ 476,000 บาท
งวดที่ 7 (กิจกรรมที่ยังไม่ได้ดำเนินการ)
- จัดทำกลไก M&E ประชุมติดตามความก้าวหน้าและตรวจเยี่ยม ระดับเขต และระดับจังหวัด กำหนดระยเวลาดำเนินงาน 30 มิถุนายน 2563 งบประมาณ 92,180 บาท
- ประเมินผลก่อนปิดโครงการโดยผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกมาประเมินการดำเนินงานโครงการกำหนดระยะเวลาดำเนินงาน 30 มิถุนายน 2563 งบประมาณ 500,000 บาท
- นำเสนอผลการพัฒนา DHS ต่อผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขกำหนดระยะเวลาดำเนินงาน 30 มิถุนายน 2563 งบประมาณ 249,030 บาท
แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติม
เรื่องการประเมินผลก่อนปิดโครงการต้องไปดูว่านักวิจัยคนใดที่มีความเหมาะสม และ
การนำเสนอผลการพัฒนา DHS ต่อผู้บริหารกระทรวงว่าควรจัดทำในลักษณะใดซึ่งนายแพทย์ศุภกิจ 
ศิริลักษณ์ และคุณสุรัติ ฉัตรไชยาฤกษ์ จะเป็นผู้รับผิดชอบในการติดต่อประสานงานส่วนเรื่อง
การจัดทำกลไก M&E ก็อาจจะต้องสนับสนุนให้จังหวัดน่าจะเกิดประโยชน์
มติที่ประชุม รับทราบ

 

ระเบียบวาระที่ 2 เรื่องรับรองรายงานการประชุม
เลขานุการเสนอรายงานการประชุม ครั้งที่ 3/2562 เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2562 ให้ที่ประชุมรับรอง
มติที่ประชุม รับรองรายงานการประชุม

 

ระเบียบวาระที่ 3 เรื่องสืบเนื่อง
3.1 วิเคราะห์ผลการดำเนินงานตามหลักการ DHS ที่พึงประสงค์ของแต่ละพื้นที่รวม 47 อำเภอ
รองศาสตราจารย์นายแพทย์ศิริเกษม ศิริลักษณ์ กล่าวว่าพื้นที่ทั้ง 47 อำเภอได้ดำเนินการพัฒนาและส่งรายงานมาเรียนร้อยแล้วบางอำเภอไม่ได้ใช้งบประมาณในการทำแผนพัฒนาบางอำเภอใช้ไปบางส่วนเราจึงนำข้อมูลที่ได้จากการพัฒนามาเป็นข้อมูลนำเข้าในการพิจารณาว่าจะจัดสรรงบประมาณในการพัฒนาระบบสุขภาพอำเภอ รอบที่ 2 เป็นจำนวนเท่าไร ควรให้อำเภอไหน ซึ่งทางทีมงานก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับประเด็นนี้ควรมีรูปแบบชัดเจนในการพิจารณาเพื่อให้การจัดสรรงบประมาณเกิดประโยชน์อย่างถึงที่สุด
นายแพทย์ปิยะ ศิริลักษณ์ ให้ความเห็นว่าในการจัดสรรงบประมาณให้แต่ละพื้นที่สิ่งที่ต้องระวัง คือ การเลือกอำเภอที่มีผลงานดี เช่น ไข้เลือดออกไม่ระบาดแต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือการที่ไข้เลือดออกไม่ระบาดเป็นเพราะระบบหรือเป็นเพราะการทำงานเป็นครั้ง ๆ ไป เช่น ในบางช่วงเป็นฤดูแล้งอากาศร้อนจึงไม่มีไขเลือดออกระบาดผลปรากฏว่าอัตราการป่วยลดต่ำลงอาจจะเข้าใจผิดว่าเป็นผลมาจากการบริหารเชิงระบบฉะนั้นหากเป็นจังหวัดพิษณุโลกอาจจะพิจารณาใน 2 ประเด็นควบคู่กันไป คือ เรื่องผลงานและพิจารณาว่าผลงานที่ดีนั้นมีระบบการบริหารจัดการที่ดีหรือไม่ หากมีผลงานที่ดีอยู่แล้วและได้รับงบประมาณสนับสนุนก็จะทำให้ดียิ่งขึ้นและอีกแบบคืออำเภอที่ผลงานไม่ดีแต่ผลงานที่ไม่ดีนั้นเกิดจากการไม่ได้ทำงานอย่างเป็นระบบตามแนวคิด Six Building Blocks Plus One ก็ควรให้งบพัฒนาไปอาจจะต้องกำหนดวัตถุประสงค์ว่าจะแก้ไขข้อบกพร่องหรือจะสร้างเป็นอำเภอตัวอย่าง
นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ กล่าวว่า สสส.อยากเห็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมเป็นความสำเร็จของอำเภอ คือ สสส.ไม่ได้กังวลว่าเราจะพัฒนาเชิงระบบเพียงอย่างเดียวแต่เนื่องจากโครงการฯดำเนินการมานานพอสมควรก็ควรจะมีผลผลิต ผลลัพธ์ ที่เป็นความสำเร็จ ที่พัฒนาเชิงระบบให้ดีขึ้น เพราะฉะนั้นต้องดูว่าถ้าอำเภอนั้นผู้นำไม่มีคุณภาพถ้าให้งบประมาณไปพัฒนาก็อาจจะไม่เกิดผลแต่ถ้าจะแก้ไขข้อบกพร่องบางส่วนก็ไม่เป็นไรแต่ไม่ใช่เพียงอำเภอเดียวจากทั้งเขตเพียงแต่ต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าจะวัดผลอย่างไรหลังจากที่ให้งบประมาณไปรอบที่สองในหนึ่งจังหวัดควรมีอย่างน้อยสัก 2 อำเภอที่เป็น Best practice ซึ่งถ้าสัมพันธ์กับระบบด้วยยิ่งดีส่วนบางอำเภออาจจะไปแก้ไขข้อบกพร่องให้ดีขึ้น
นายสมนึก ธีระภัทรานนท์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษตัวแทนนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า อาจจะให้อำเภอที่ผู้นำมีความรับผิดชอบสูง รวมถึงแกนนำ ชุมชน และคนที่มีความเข้าใจในเรื่อง Six Building Blocks Plus One เพราะว่าจะได้ต้นแบบที่แตกต่างจากที่อื่น เช่น อำภอเขาค้อ
นางรุ่งพิทยา คณะช่าง สาธารณสุขอำเภอเขาค้อ กล่าวว่า อำเภอเขาค้อเลือกประเด็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวซึ่งเป็นประเด็นหลักที่คนทั้งอำเภอสนใจ เชื่อมโยงกับปัญหาสาธารณสุขและปัญหาอื่น ๆ ภายในอำเภอได้ค่อนข้างครบถ้วน เช่น ประเด็นอุบัติเหตุ ประเด็นอาหารปลอดภัย
นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ให้ข้อคิดเห็นว่า พื้นที่จะพัฒนาในประเด็นอะไรไม่สำคัญเพียงแต่ประเด็นที่ถูกเลือกมาเป็นมีวิธีการได้มาอย่างไรมีการวิเคราะห์ข้อมูลประกอบการตัดสินใจหรือไม่มีการติดตามความก้าวหน้าด้วยระบบที่ดีหรือไม่ มีการคำนึงถึงเรื่องกำลังคนที่จะมาดำเนินการในประเด็นการส่งเสริม
การท่องเที่ยวหรือไม่ มีการวางแผนหรือไม่ ทั้งหมดนี้คือการพัฒนาเชิงระบบ เมื่อดำเนินการแล้วการท่องเที่ยวมันดีขึ้นหรือมีปัญหาลดลงหรือไม่ กระบวนการ Six Building Blocks Plus One มีความสมบูรณ์มากน้อยเพียงใดหรืออาจทำแบบเดิมคือให้ผู้นำในพื้นที่เลือกประเด็นการพัฒนามาดำเนินการแต่อาจจะไม่ได้เชิงระบบอย่างที่กำหนดไว้เพียงแต่สิ่งที่ควรได้คือผลผลิต และผลลัพธ์ที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่ามีความเปลี่ยนแปลงของประเด็นที่นำมาพัฒนา และสามารถเชื่อมโยงอธิบายได้ว่า Six Building Blocks Plus One หลังจากที่ถูกพัฒนาแล้วช่วยแก้ไขปัญหาให้ดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง
รองศาสตราจารย์นายแพทย์ศิริเกษม ศิริลักษณ์ กล่าวว่า ในส่วนของการกำหนดเกณฑ์เพื่อจัดสรรให้อำเภอทางเราจะประสานงานไปทางจังหวัดภายหลังจากที่ทีมงานวิเคราะห์ข้อมูลเรียบร้อย
มติที่ประชุม รับทราบ

 

ระเบียบวาระที่ 4 เรื่องเพื่อพิจารณา
4.1 การจัดการอบรมอนุกรรมการของคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ
เภสัชกรหญิงดวงดาว วงศ์จำปา กล่าวว่า จากการประชุมครั้งที่แล้วคุณธรรมรัตน์ เพชรี สาธารณสุขอำเภอเนินมะปราง ได้ให้ข้อเสนอแนะเรื่องการจัดอบรมอนุกรรมการ พชอ. เนื่องจากอนุกรรมการ พชอ.อาจจะยังมีความเข้าใจในเรื่องของ Six Building Blocks Plus One ไม่ชัดเจนทำให้การดำเนินการพัฒนาในบางประเด็นอาจจะติดขัดบ้างจึงเป็นที่มาของการจัดอบรมอนุกรรมการ พชอ. เป้าหมายการจัดประชุมคือได้ Work Flow ที่เป็นต้นแบบในแต่ละประเด็นที่เป็นปัญหาในพื้นที่โดยใช้ Six Building Blocks Plus One ในการขับเคลื่อนทั้ง 47 อำเภอ
นายธรรมรัตน์ เพชรี สาธารณสุขอำเภอเนินมะปราง กล่าวว่าเวลาทำแผนและวิเคราะห์
ในประเด็นที่ผ่านมาอนุกรรมการพชอ.ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ พัฒนาการ หรือเกษตร จะมีความเข้าใจ
ในเรื่อง Six Building Blocks Plus One ยังไม่มากและส่วนใหญ่เวลาขับเคลื่อนก็จะนำโดยสาธารณสุข การได้เข้าร่วมอบรมอาจทำให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น
นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ กล่าวว่า ความเข้าใจเรื่องการพัฒนาระบบสุขภาพอำเภอ โดยแนวคิด Six Building Blocks Plus One เจ้าหน้าที่ในภาคสาธารณสุขก็ยังมีความเข้าใจไม่ชัดเจนในการอบรมอาจจะเชิญเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาเข้าร่วมด้วย
มติที่ประชุม รับทราบ    
4.2 การจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนโครงการพัฒนาระบบHealth information system
นายแพทย์ปิยะ ศิริลักษณ์ กล่าวว่า เรื่อง Health Information System สำรวจเบื้องต้นพบว่ามีประมาณ 75 โปรแกรมที่ใช้งานอยู่ในระดับอำเภอและบางส่วนก็เชื่อมโยงมาถึงระดับจังหวัด แต่ 75 โปรแกรมนี้ยังไม่ครอบคลุมทั้งหมดในบางพื้นที่อาจจะมีโปรแกรมที่สร้างขึ้นมาเพื่อใช้งานเฉพาะพื้นที่ แต่ในส่วนของ 75 โปรแกรม เมื่อนำมาพิจารณาดูก็พบว่าสามารถที่จะนำมาสนับสนุนการดำเนินงานได้ครบตาม Six Building Blocks Plus One
วันที่ 8 พฤศจิกายน 2562 ได้มีการจัดประชุมโดยเชิญผู้ดูแลโปรแกรมต่าง ๆ มานำเสนอว่าการใช้งานเป็นอย่างไร มีขั้นตอนการนำเข้าข้อมูล กระบวนการข้อมูลอย่างไร ประมาณ 10 โปรแกรม ทำให้เห็นประเด็นสำคัญว่าบางโปรแกรมไม่สนับสนุนผู้ใช้งาน เช่น นำเข้าข้อมูลยาก ตัวอักษรตัวเล็ก ความหมายกำกวม และมีความซ้ำซ้อนกันระหว่างโปรแกรมเพราะเชื่อมโยงกันไม่ได้ บางส่วนมีข้อมูลร่วมกัน บางโปรแกรมไม่ได้ใช้ประโยชน์เมื่อสอบถามผู้เกี่ยวข้องว่าจะนำข้อมูลไปใช้อะไรได้บ้างก็ให้คำตอบได้ไม่ชัดเจนจึงอยากจะเสนอขั้นตอนในการทำ ดังนี้
1. ขออนุมัติงบประมาณในการดำเนินการ
2. ระดมความคิดเห็นวิเคราะห์โปรแกรมที่มีเพื่อให้ทราบประเด็นสำคัญโดยเพิ่มกลุ่มคนวิเคราะห์นอกจากกรรมการก็จะมีตัวแทนของผู้บริหารและกลุ่มของผู้ปฏิบัติเพื่อให้เข้าใจความต้องการของทั้งสองฝ่ายและอีกกลุ่มหนึ่งคือ Technician คือผู้เชี่ยวชาญในการใช้โปรแกรม
3. เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลและได้ข้อมูลพอสมควรก็ทำการจัดประชุมเพื่อเพิ่มประเด็นในการศึกษาว่าต้องการแบบใด
4. สร้างเครื่องมือในการเก็บข้อมูลเพื่อหาคำตอบในประเด็นที่กำหนดไว้ในขั้นตอนที่ 3 จากนั้นเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องซึ่งอาจดูจากหลักฐาน ตัวโปรแกรม สอบถามจากผู้ใช้งาน นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์และหาคำตอบ
5. จัดทำข้อเสนอแนะ ซึ่งคาดว่าอาจจะได้ 3 ประเด็น คือ 
    1) ตัวโปรแกรมทั้งหมดจะสามารถพัฒนาหรือปรับเปลี่ยนให้ใช้งานได้หมดหรือไม่ 
    2) อาจจะไม่สามารถไปพัฒนาหรือปรับเปลี่ยนตัวโปรแกรมได้แต่อาจจะมีเครื่องมือที่สามารถเชื่อมโยงทุกโปรแกรมเหล่านั้นเข้าด้วยกันเพื่อลดข้อมูลบางอย่างที่ซ้ำซ้อนกัน
    3) เสนอว่ามีโปรแกรมไหนบ้างที่กรอกข้อมูลไปแล้วทำให้เพิ่มภาระงานแต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จะสามารถลดใช้ร่วมกันหรือปรับเปลี่ยนได้หรือไม่
รองศาสตราจารย์นายแพทย์ศิริเกษม ศิริลักษณ์ กล่าวว่า ถ้าเราจะเพิ่มผลผลิตให้เป็น Research article โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยมาดำเนินการจะเป็นการดี
นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ กล่าวว่า ในปัจจุบันมีโปรแกรมอะไรอยู่บ้างอาจจะต้องลงลึก
มากขึ้น ข้อเสนอแรกที่เราจะได้คือ การบริหารจัดการเรื่องโปรแกรมสารสนเทศของสาธารณสุข
ในภายหน้า เช่น ทำอย่างไรให้ลดภาระงานและใช้ประโยชน์ได้คุ้มค่ามากขึ้นต่อมาคือเป็นข้อเสนอ
ในการใช้งานของโปรแกรมที่มีอยู่กับเจ้าของโปรแกรมซึ่งในส่วนนี้คงได้เพียงเสนอแนะข้อบกพร่องว่าถ้าจะทำให้ดีจะต้องพัฒนาอะไรอย่างไร และสุดท้ายคือไม่เพียงให้ข้อเสนอแนะแต่เป็นการสร้างโปรแกรมขึ้นมา 1 โปรแกรม เพื่อใช้เชื่อมข้อมูลซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างท้าทาย
รองศาสตราจารย์นายแพทย์ศิริเกษม ศิริลักษณ์ กล่าวว่า เราอาจจะต้องดูว่าจังหวัดอื่น ๆ 
มีโปรแกรมในลักษณะเดียวกันกี่โปรแกรมเพื่อให้ครอบคลุมและนำมาเป็นข้อมูลนำเข้า
รองศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ แย้มเม่น กล่าวว่า โปรแกรมแต่ละโปรแกรมมีข้อจำกัดในเรื่องของลิขสิทธิ์ซึ่งเราอาจจะเข้าไปยุ่งไม่ได้และบางทีอาจจะล็อคทั้ง Hardware และ Software ทำให้ดึงข้อมูลออกยากแต่เทคโนโลยีปัจจุบันก็สามารถบันทึกเป็นภาพถ่ายและวิเคราะห์เป็นตัวอักษรมาเก็บได้ ส่วนหน่วยงานที่ใช้โปรแกรมเดิมอยู่แล้วก็น่าจะสะดวกที่จะใช้โปรแกรมเดิมเนื่องจากไม่อยากทำใหม่หรือนำเข้าข้อมูลใหม่ อาจจะเป็นการสร้างโปรแกรมมาเชื่อมโยงข้อมูลแทน
นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ กล่าวว่า โปรแกรมที่ไม่ได้ซื้อหรือจ้างผมจะเป็นตัวแทนในการเจรจาอย่างเช่นโปรแกรมของกรมหรือภายใต้กระทรวงสาธารณสุขเพราะเราไม่ได้ทำเชิ’พาณิชย์
มติที่ประชุม รับทราบ
4.3 การปรับปรุงแผนการดำเนินงานเพื่อรองรับงบประมาณในระยะต่อไป
งบประมาณดำเนินโครงการทั้งที่ได้รับมาแล้วและยังไม่ได้รับรวมเป็นจำนวนเงิน11,491,782.67 บาท ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินการไม่เกิน 1 ปี ควรเขียนแผนให้ชัดเจนแต่ในขณะนี้อยู่ในงวดที่ 4 ซึ่งมีเงินคงเหลือในบัญชีประมาณ 3,200,000บาท
กิจกรรมที่ดำเนินการแล้วและมีงบประมาณคงเหลือสามารถดำเนินการได้ 2 วิธี คือ
1. ถ้าไม่มีความจำเป็นต้องใช้ก็คืนให้กับสสส. 
2. ถ้ามีกิจกรรมอื่นที่นอกเหนือจากแผนและพิจารณาแล้วเห็นว่าเกิดประโยชน์กับโครงการก็สามารถทำการเจรจากับ สสส.ว่าขอนำงบไปใช้ในกิจกรรมอื่น ๆ เช่น การจัดกิจกรรมการอบรมอนุกรรมการ พชอ. 
งบประมาณในกิจกรรมที่ยังไม่ได้ดำเนินการ เช่น สื่อสารสาธารณะ การพัฒนาผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ในเขตทุกระดับควรกำหนดให้มีความชัดเจนว่าจะทำอะไร ใครเป็นผู้รับผิดชอบ และกำหนดระยะเวลาดำเนินการ
มติที่ประชุม รับทราบ
4.4 การรายงานตามการติดตามการดำเนินงานของ สสส.
ทางโครงการจัดส่งผลงานและเอกสารที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว
มติที่ประชุม รับทราบ
4.5 การขอเปลี่ยนแปลงนักวิชาการเขตสุขภาพที่ 2 
รายศาสตราจารย์ ดร.ไพศาล มุณีสว่าง ตามคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานโครงการพัฒนารูปแบบการพัฒนาระบบสุขภาพอำเภอที่พึงประสงค์เพื่อสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพทุกกลุ่มวัยในเขตสุขภาพที่ 2 เพื่อจัดสรรให้ผู้ที่เหมาะสมต่อไป
มติที่ประชุม รับทราบ

 

ระเบียบวาระที่ 5 เรื่องอื่น ๆ
5.1 นัดหมายการประชุมครั้งต่อไปของคณะกรรมการบริหารโครงการและคณะอนุกรรมการ ในวันที่ 9 ธันวาคม 2562


...